จุดภาพชัด (macula) เป็นจุดที่อยู่ตรงกลางของจอตา มีเซลล์ประสาทรับรู้แสงและสี (cones) จำนวนมาก ทำให้เห็นภาพตรงส่วนกลางของลายสายตา (central vision) ได้คมชัด ผู้สูงอายุบางคนอาจเกิดภาวะเสื่อมของจุดภาพชัดตามวัย ทำให้สูญเสียการมองเห็นเฉพาะส่วนกลางภาพ โดยที่ยังมองเห็นด้านข้างภาพได้เป็นปกติ เนื่องจากลานสายตาด้านข้าง (peripheral vision) ยังปกติดี
ภาวะดังกล่าวเรียกว่า “โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ” (“โรคจุดรับภาพชัดจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ” “โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ” “โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ” ก็เรียก)
โรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียความสามารถในการมองเห็นในผู้สูงอายุ
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีความสัมพันธ์กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่
กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติว่ามีพ่อแม่เป็นโรคจุดภาพชัดเสื่อมมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป
ความเสื่อมตามวัย โรคนี้มักพบในคนอายุมากกว่า 50 ปี และพบได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
การสูบบุหรี่ มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบประมาณ 2-3 เท่า
ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ที่มีความอ้วน มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น
โรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดแห้ง (dry/atrophic macular degeneration) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ (พบได้ประมาณร้อยละ 85-90 ของผู้ป่วยโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมทั้งหมด) พบว่าเซลล์ประสาทที่บริเวณจุดภาพชัดที่จอตาค่อย ๆ เสื่อมสภาพและหายไป ทำให้จุดภาพชัดมีลักษณะบางตัวลง และมีอาการตามัวซึ่งเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดเปียก (wet/neovascular/exudative macular degeneration) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนน้อย พบว่ามีหลอดเลือดงอกใหม่ผิดปกติในผนังลูกตาชั้นกลาง หรือคอรอยด์ (choroidal neovascularization) ที่บริเวณใต้จุดภาพชัด ต่อมาเกิดการรั่วซึมของเลือดหรือสารน้ำออกจากหลอดเลือดเหล่านี้ที่เปราะและแตกง่าย ทำให้จุดภาพชัดบวมและเซลล์ประสาทจอตาเสื่อมสภาพ หากปล่อยไว้อาจทำให้จุดรับภาพชัดเสื่อมอย่างถาวรและกลายเป็นแผลเป็น ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็น ผู้ป่วยที่เป็นจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดเปียกอาจเกิดขึ้นมาเองได้ทันที (เนื่องจากมีเลือดออกไปคั่งที่จุดภาพชัด) หรืออาจเกิดต่อเนื่องจากโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดแห้งที่มีมาก่อน อาการตามัวในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจเกิดขึ้นแบบฉับพลันและมีความรุนแรงในช่วงเวลาสั้น ๆ ได้
อาการ
จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดแห้ง มักมีอาการตามัว คือ มองเห็นไม่ชัดหรือพร่ามัวเฉพาะช่วงตรงกลางภาพ ซึ่งค่อย ๆ เกิดมากขึ้นอย่างช้า ๆ โดยไม่มีอาการปวดตา เช่น ผู้ป่วยอาจสังเกตว่า เวลาอ่านหนังสือหรือทำงานที่ประณีต หรือต้องมองใกล้ ๆ จำเป็นต้องอาศัยแสงที่สว่างมากขึ้น มองเห็นภาพบิดเบี้ยว (เช่น มองเห็นเส้นตรงเป็นคลื่น หรือเป็นเส้นคด มองเห็นป้ายสัญญาณจราจรผิดเพี้ยนไป) อ่านตัวหนังสือได้ไม่ชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ สายตาไม่ดีเมื่ออยู่ในที่สลัว มองเห็นสีได้ไม่ชัดเจน (สีจางหรือมืดมัวกว่าปกติ ต้องอาศัยแสงสว่างที่มากกว่าปกติจึงจะมองเห็นสีได้ชัดขึ้น) จำหน้าคนรู้จักไม่ได้ เมื่อสายตาพร่ามัวหนักขึ้น ช่วงตรงกลางภาพที่มองเห็น (ตรงกลางของลานสายตา) มีลักษณะพร่ามัวหรือมีจุดบอด (เห็นเป็นสีดำหรือสีเทา) แต่ยังสามารถมองเห็นส่วนด้านข้างของภาพได้เป็นปกติ
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดแห้งระยะแรกเริ่ม ซึ่งบริเวณที่เสื่อมมีขนาดเล็กและตาอีกข้างเป็นปกติ เมื่อมองด้วยตา 2 ข้างพร้อมกัน ผู้ป่วยอาจไม่ทันสังเกต หรือไม่รู้สึกว่าผิดปกติ จนกว่าบริเวณที่เสื่อมมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยจึงจะสังเกตเห็นความผิดปกติได้ชัดเจน
จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดเปียก มีอาการแบบเดียวกับจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดแห้งดังกล่าวข้างต้น แต่มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และมีอาการรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยมักสังเกตเห็นอาการผิดปกติได้ง่ายกว่าจุดภาพชัดเสื่อมชนิดแห้ง โดยช่วงตรงกลางภาพที่มองเห็นมีลักษณะพร่ามัวหรือเป็นจุดบอด (สีดำหรือเทา) ซึ่งมีขนาดใหญ่ จนสูญเสียการมองเห็นช่วงตรงกลางภาพเกือบทั้งหมด แต่ไม่ถึงกับตาบอดสนิท เนื่องจากผู้ป่วยยังสามารถมองเห็นส่วนด้านข้างของภาพได้เป็นปกติ
ภาวะแทรกซ้อน
สำหรับจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดแห้ง หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา สายตาจะค่อย ๆ แย่ลงจนสูญเสียการมองเห็นช่วงตรงกลางของภาพ และพบว่ามีราวร้อยละ 10 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะกลายเป็นจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดเปียกแทรกซ้อนตามมา
สำหรับจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดเปียก มักมีอาการรุนแรงกว่าชนิดแห้ง ผู้ป่วยอาจสูญเสียการมองเห็นตรงส่วนกลางของภาพภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และเป็นไปอย่างถาวร
แม้ว่าจะยังมองเห็นส่วนด้านข้างของภาพ แต่ผู้ป่วยก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เช่น จำหน้าคนไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ได้ ดูเวลาที่หน้าปัดนาฬิกาไม่ได้ ขับรถไม่ได้ เป็นต้น อาจทำให้สูญเสียคุณภาพชีวิต และเกิดภาวะวิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้าตามมา นอกจากนี้ยังอาจทำให้หกล้ม กระดูกหักหรือศีรษะได้รับบาดเจ็บได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะทำการตรวจวัดสายตาซึ่งมักพบว่าผิดปกติ และตรวจกรองโรคนี้ด้วยแผ่นภาพแอมสเลอร์ (Amsler’s chart) ซึ่งจะมองเห็นภาพเส้นตรงเป็นเส้นที่บิดเบี้ยว
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการใช้เครื่องส่องตรวจตา (ophthalmoscopy) ตรวจดูความผิดปกติของจอตา และทำการตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การถ่ายภาพจอตา (fundus photography) การถ่ายภาพจอตาด้วยการฉีดสี เพื่อดูการไหลเวียนและรอยรั่วของหลอดเลือดผิดปกติในจอตา โดยวิธี Fundus fluorescein and indocyanine green angiography การสแกนจอตาเพื่อดูความผิดปกติของเนื้อเยื่อจอตาโดยใช้แสงเลเซอร์ถ่ายภาพตามขวาง (optical coherence tomography/OCT) การสแกนโครงสร้างหลอดเลือดที่จอตาโดยวิธี optical coherence tomography angiography (OCTA) เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดแห้ง แพทย์จะให้สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี สังกะสี ทองแดง ลูทีน (lutein) ซีแซนทิน (zeaxanthin) เป็นต้น เพื่อชะลอไม่ให้อาการลุกลามมากขึ้น และป้องกันไม่ให้สูญเสียการมองเห็น
จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดเปียก แพทย์จะให้ยายับยั้งการเจริญของหลอดเลือดใหม่ (เช่น Bevacizumab, Brolucizumab, Faricimab, Ranibizumab) ซึ่งเป็นสารต้าน VEGF (anti-VEGF/anti- vascular endothelial growth factor) โดยการฉีดเข้าไปในน้ำวุ้นตา
นอกจากนี้ แพทย์อาจให้การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งมีอยู่หลายวิธี (เช่น Photodynamic therapy, Laser photocoagulation) เพื่อทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติไม่ให้อาการลุกลามมากขึ้น
ผลการรักษา ขึ้นกับชนิด ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดเปียกที่เริ่มเป็นระยะแรก (พบว่าเริ่มมีหลอดเลือดผิดปกติในผนังลูกตาชั้นกลาง) ก็มักจะได้ผลดี แต่ถ้าเซลล์ประสาทบริเวณจุดภาพชัดเสื่อมทั้งหมดแล้ว ก็ยากที่จะแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ทำให้สายตาพิการรุนแรง คือมองไม่เห็นช่วงตรงกลางภาพ
สำหรับจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดแห้ง มักมีอาการสายตาผิดปกติแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ บางรายอาจมีอาการมองเห็นช่วงตรงกลางของภาพไม่ชัดเพียงเล็กน้อย แต่บางรายอาจเป็นรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่กลายป็นจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมชนิดเปียกตามมา
ในรายที่สายตาพิการมาก อาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น แว่นขยาย แว่นตาอ่านหนังสือ เลนส์สำหรับส่องทางไกล (telescopic lenses) เป็นต้น
การดูแลตนเอง
หากสงสัยว่าเป็นจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ควรรักษา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวเพื่อชะลอความรุนแรงของโรค (ดูหัวข้อ “การป้องกัน”)
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้าดูแลรักษาแล้วอาการเป็นมากขึ้น หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา
การป้องกัน
ถึงแม้สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด และอาจสัมพันธ์กับปัจจัยหลายอย่าง (เช่น อายุมาก กรรมพันธุ์) ที่แก้ไขไม่ได้ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ การปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงหรือชะลอความรุนแรงของโรค
ไม่สูบบุหรี่
ออกกำลังกายเป็นประจำ
ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ ผักและผลไม้ เมล็ดธัญพืชให้มาก ๆ และกินปลาเป็นประจำ
ถ้าเป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรรักษาอย่างจริงจังจนสามารถควบคุมโรคเหล่านี้ได้ดี
ข้อแนะนำ
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้ที่มีความเสี่ยง (เช่น ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด รูปร่างอ้วน มีประวัติสูบบุหรี่ มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว) หมั่นตรวจเช็กสุขภาพตาเป็นประจำ หากพบว่าเป็นโรคนี้ และได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ก็สามารถลดความรุนแรงของโรคและป้องกันไม่ให้สายตาพิการหรือสูญเสียการมองเห็นได้
โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions